๏ กล้องโทรศัพท์มือถือ
ย้อนไปเมื่อราวปี พ.ศ. 2533 ทีมนักวิทยาศาสตร์ของ Jet Propulsion Laboratory (JPL) นาซ่า ได้คิดค้นกล้องขนาดเล็กเพื่อติดตั้งบนยานอวกาศสำหรับงานสำรวจทางวิทยาศาสตร์ สมัยนั้นอย่าว่าแต่โทรศัพท์มือถือเลยครับ แค่โทรศัพท์บ้านในบ้านพื้นที่ยังไม่รู้จักเลย และความคิดนั้นก็ได้รับการต่อยอดจนมาสู่กล้องมือถือที่ให้เราได้เซลฟี่กันนั่นเอง
๏ เลนส์กันรอยขีดข่วน
แรกเริ่มมาจากนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยเลวิส (Lewis) นาซ่า ได้พัฒนาวิธีการเคลือบวัสดุด้วยเพชรแข็งสำหรับอากาศยาน ต่อมากระบวนการดังกล่าวได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย
๏ เครื่องซีทีสแกน
การเดินทางในห้วงอวกาศที่มืดสนิทจำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วยเหลือการมองเห็นเพื่อช่วยในการนำทาง นักวิทยาศาสตร์จาก JPL นาซ่าจึงได้คิดค้นการถ่ายภาพอวกาศด้วยรังสี เป็นเทคนิคการได้มาซึ่งข้อมูลโดยไม่ต้องอาศัยแสงอาทิตย์ ต่อมาพัฒนากลายมาเป็นเครื่องซีทีแสกนและใช้กันอย่างแพร่หลายในทางการแพทย์ในปัจจุบัน
๏ หลอดไฟเอลอีดี
แรกเริ่มนาซ่าพัฒนาหลอด LED แสงสีแดงขึ้นเพื่อใช้ในการวิจัยการปลูกพืชในสถานีอวกาศและกระสวยอวกาศ ต่อมาทางบริษัท Quantum Devices ได้นำมาเป็นต้นแบบพัฒนาอุปกรณ์ที่ชื่อว่า WARP-10 รักษาอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และภายหลัง LED แสงสีต่างๆก็ได้ถูกพัฒนาขึ้น ขนาดเล็กลงและใช้พลังงานน้อยลง จนนำไปสร้างหน้าจอที่มีแสงจากด้านหลัง ต่อมาเทคนิคดังกล่าวได้ใช้เพื่อพัฒนาเป็นหน้าจอสมาร์ทโฟนและโทรทัศน์หลายรุ่นในปัจจุบัน
๏ ผ้าห่มฟอยล์ หรือ ผ้าห่มฉุกเฉิน
หากใครนึกไม่ออกก็ให้นึกถึงตอนที่ผ้าห่มที่ทีมหมูป่าใช้ในถ้ำระหว่างรอเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือออกจากถ้ำนะครับ ซึ่งพัฒนามาจากฉนวนกันความร้อนจากดวงอาทิตย์ใช้กับดาวเทียมหรือยานอวกาศที่ปฎิบัติภาระกิจในอวกาศ ต่อมาได้กลายมาเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตอย่างหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้ในงานกู้ภัยและการให้ความช่วยเหลือ ประโยชน์ของฟอยล์ก็เพื่อกักเก็บความร้อนภายในร่างกายคนเราไม่ให้ออกสู่สิ่งแวดล้อมมากเกินไป จนทำให้เกิดภาวะตัวเย็นหรืออุณหภูมิกายต่ำผิดปกติ (Hypothermia) ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
๏ เครื่องดูดฝุ่น
ในช่วงยุคแห่งการสำรวจดวงจันทร์ นาซ่าร่วมกับบริษัท Black & Decker ได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์เก็บชิ้นส่วนตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ ภายใต้โครงการ Apollo ต่อมาในปีพ.ศ. 2522 ไอเดียดังกล่าวได้ถูกพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นเครื่องดูดฝุ่นที่เราใช้อยู่ตามบ้านในปัจจุบัน
๏ เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด
นาซ่าร่วมกับบริษัท Diatek พัฒนาเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายผ่านทางหู โดยอาศัยคลื่นอินฟาเรดเพื่อตรวจวัดค่าพลังงานที่ได้จากแก้วหูของนักบินอวกาศ ต่อมาเครื่องดังกล่าวกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาเครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรดในปัจจุบันและถูกนำไปใช้งานหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การตรวจสอบอุณหภูมิของอาหารจานร้อน อุณหภูมิของชิ้นส่วนต่างๆของร่างกาย อุณหภูมิน้ำหล่อเย็น รวมถึงทางการแพทย์ เป็นต้น และได้ถูกวางจำหน่ายในท้องตลาดเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2534
๏ หูฟังแบบไร้สาย
ไอเดียแรกเริ่มมาจากเพื่ออำนวยความสะดวกนักบินอวกาศในระหว่างปฎิบัติภารกิจ และเพิ่มความปลอดภัยในการปฎิบัติภารกิจจากสายต่างๆ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2505 ก็ได้นำมาใช้กับนักบินสายการบิน United Airlines และพนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศในเวลาต่อมา
๏ อาหารแช่แช็งแห้ง
หนึ่งในสิ่งที่นาซ่าได้ทุ่มทุนทำการวิจัยอย่างหนักหน่วง ก็คือเรื่องอาหารที่จะให้นักบินอวกาศใช้ทานในอวกาศ มีหลากหลายเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การแช่แข็งแห้ง คือ การเอาความชื้นออกจากวัสดุที่แช่แข็งแล้ว ในขณะที่มันยังคงอยู่ในสภาพเดิม รักษารูปร่างและโครงสร้างไว้เหมือนเดิม รวมถึงรักษาคุณค่าทางอาหารให้คงเดิมได้ถึง 98% ในขณะที่น้ำหนักของอาหารลดเหลือเพียง 20% ปัจจุบันไอเดียดังกล่าวมีความสำคัญมากในธุรกิจส่งออกอาหาร
๏ เมาส์
ย้อนไปในช่วงยุคต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 นักวิจัยนาซ่าได้พยายามคิดค้นวิธีที่จะทำให้คอมพิวเตอร์ตอบสนองได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการคำนวณในภารกิจต่างๆของนาซ่าที่ต้องอาศัยการพิมพ์ป้อนคำสั่งอย่างเดียวในขณะนั้น ต่อมาได้มีการนำเสนอไอเดียการจัดการข้อมูลผ่านจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็นำมาสู่การประดิษฐ์เมาส์ควบคุมการสั่งการผ่านหน้าจอ เป็นต้นแบบการพัฒนาจนเป็นเมาส์ไร้สาย แป้นควบคุม รวมถึงหน้าจอสัมผัสในปัจจุบัน แม้ว่าเมาส์จะไม่เป็นผลผลิตที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจอวกาศโดยตรงแต่ก็นับว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญที่ทำให้ภารกิจของนาซ่าประสบความสำเร็จ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญขาของมนุษย์เรา
ทั้งหมดนี้ บอกได้เลยว่ายังเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ในอีกหลากหลายนวัตกรรมที่เป็นผลพลอยได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ จะได้เห็นว่าสิ่งประดิษฐ์บางชิ้นที่ได้คิดค้นขึ้นมาในอดีต เพื่อเพียงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เดิมๆ แต่มันได้เปลี่ยนชีวิตเราให้สะดวกขึ้นแล้วในปัจจุบัน
ที่มา GISTDA