หมวดหมู่: คนสำคัญ

► ทอมัส เอดิสัน ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟ

โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) เป็นนักประดิษฐ์คนสำคัญของโลก ผลงานของเขาได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนให้เป็นสังคมสมัยใหม่ ส่วนใหญ่ผู้คนมักจะรู้จักเอดิสันในฐานะผู้ประดิษฐ์หลอดไฟ แต่ที่จริงแล้วผลงานการประดิษฐ์ของเขามีมากมายเหลือเชื่อ เช่น เครื่องบันทึกเสียง กล้องถ่ายภาพยนตร์ เครื่องเล่นจานเสียง แบตเตอรี่ และเครื่องมือเครื่องใช้เทคโนโลยีอื่นอีกเป็นพันชิ้น เอดิสันเป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์มากถึง 1,093 ชิ้น นอกจากนี้เขายังเป็นนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ เอดิสันเป็นเจ้าของบริษัทที่มีชื่อเขาเป็นชื่อบริษัทถึง 13 บริษัท รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric Company) หรือ GE บริษัทมหาชนด้านไฟฟ้าขนาดใหญ่ของโลก เอดิสันเป็นตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จด้วยความอุตสาหะขยันหมั่นเพียร และได้รับการยกย่องให้เป็นสุดยอดนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก

เด็กขายของบนรถไฟผู้รักการทดลอง

เอดิสัน เป็นชาวอเมริกา เกิดเมื่อปี 1847 ที่เมืองมิลาน รัฐโอไฮโอ ตอนเด็กเขาเป็นโรคผื่นแดงและติดเชื้อในหูทำให้มีปัญหาการได้ยินทั้งสองข้างจนเกือบเป็นคนหูหนวก พอมีอายุได้ 7 ปีครอบครัวของเอดิสันที่ธุรกิจซบเซาได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองพอร์ตฮูรอน รัฐมิชิแกน เขามีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียนเพียง 3 เดือน เนื่องจากเขาไม่สนใจเนื้อหาในตำราเรียน แต่ไปสนใจในสิ่งต่างๆรอบตัวที่ไม่มีในตำรา เขาจึงเป็นเด็กมีปัญหาในสายตาของคุณครู แม่ของเขาจึงให้ออกจากโรงเรียนและเธอเป็นผู้สอนหนังสือเขาเอง เอดิสันศึกษาด้วยตัวเองด้วยการอ่านหนังสือ เขาสนใจด้านวิทยาศาสตร์และชอบการทดลองเป็นพิเศษ พ่อแม่สนับสนุนเขาโดยสร้างห้องใต้ดินเพื่อให้เอดิสันได้ทำการทดลองต่างๆในหนังสือ และเขาก็ได้ทำการทดลองมากมายในห้องใต้ดินนั้น

ตอนมีอายุ 12 ปีเอดิสันได้งานทำเป็นเด็กขายของบนรถไฟที่วิ่งระหว่างเมืองพอร์ตฮูรอนและเมืองดีทรอยต์ เขาขายหนังสือพิมพ์ ลูกกวาดและผัก เอดิสันได้ใช้ตู้รถไฟตู้หนึ่งเป็นที่พัก เก็บสารเคมี และหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เขามักใช้เวลาว่างส่วนใหญ่อยู่ในห้องพักเพื่ออ่านหนังสือ และทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเอดิสันทำงานเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง เขานำเงินไปซื้อแท่นพิมพ์เล็กๆเครื่องหนึ่ง และผลิตหนังสือพิมพ์ที่มีเขาเป็นเจ้าของบรรณาธิการ นักเขียน และพนักงานขาย ชื่อว่า Grand Trank Herald ซึ่งขายดีทีเดียว เอดิสันนำเงินกำไรที่ได้ไปซื้ออุปกรณ์ในการทดลองวิทยาศาสตร์ สารเคมี และหนังสือวิทยาศาสตร์ แต่วันหนึ่งเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ขณะที่เขากำลังทำการทดลองรถไฟเกิดกระชากอย่างแรงทำให้แท่งฟอสฟอรัสตกกระแทกพื้น แล้วเกิดระเบิดอย่างแรง ทำให้ไฟไหม้ตู้รถไฟของเขา ถึงจะเกิดความเสียหายไม่มากนักแต่เขาถูกคนคุมขบวนรถไฟตบเข้าที่หูจนหูแทบพิการ พร้อมกับถูกไล่ออกจากงาน

มุ่งสู่เส้นทางของนักประดิษฐ์

ชะตาชีวิตลิขิตทางเดินของคน วันหนึ่งเอดิสันได้ช่วยชีวิตเด็ก 3 ขวบจากการถูกรถไฟทับ เผอิญเด็กคนนั้นเป็นลูกชายของนายสถานีรถไฟ เขาได้ตอบแทนเอดิสันด้วยการสอนวิธีการส่งโทรเลขจนชำนาญ ทำให้เขาได้งานเป็นคนส่งโทรเลขอยู่นานหลายปี พอมีเวลาว่างเอดิสันก็จะศึกษาและทดลองทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีโทรเลข จนเขามีความรู้ทางวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นอย่างดี

ปี 1866 ขณะอายุ 19 ปี เอดิสันย้ายไปอยู่ที่เมืองลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี ทำงานเป็นพนักงานของบริษัท Western Union อยู่ในสำนักข่าว เขาเลือกทำงานกะกลางคืนเพื่อให้มีเวลาเต็มที่สำหรับการศึกษาและการทดลองที่เขาชอบ และมันก็สร้างปัญหาให้กับเขาอีกครั้งจนได้ คืนหนึ่งในปี 1867 เขาทดลองเกี่ยวกับแบตเตอรี่ แล้วทำน้ำกรดหกใส่พื้น มันไหลลงไปที่โต๊ะเจ้านายข้างล่าง วันรุ่งขึ้นเขาถูกไล่ออก เอดิสันจึงต้องพบกับความลำบากไม่มีเงินและไม่มีงานทำ ยังดีที่เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นนักประดิษฐ์ชื่อ Franklin Leonard Pope ให้เขาไปพักและทำงานอยู่ในห้องใต้ดินที่บ้านของเขา ปี 1869 เอดิสันในวัย 22 ปีย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์ก และประสบความสำเร็จกับสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกคือเครื่องพิมพ์ข้อมูลราคาหุ้นซึ่งขายลิขสิทธิ์ได้เงินมากพอสมควร และทำให้เขาตัดสินใจเลิกทำงานอย่างอื่นมุ่งหน้าเป็นนักประดิษฐ์อย่างเต็มตัว

เปลี่ยนโลกด้วยผลงานประดิษฐ์หลอดไฟ

ปี 1878 เอดิสันศึกษาค้นคว้าเพื่อประดิษฐ์หลอดไฟซึ่งเขาหวังจะนำมาแข่งกับตะเกียงแก๊สและตะเกียงน้ำมัน เริ่มจากหาวิธีสร้างหลอดไส้ร้อน (incandescent lamp) ให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น มีนักประดิษฐ์ในยุคนั้นจำนวนมากที่ได้พัฒนาหลอดไฟฟ้าแต่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้เนื่องจากมีอายุใช้งานสั้นมาก มีราคาแพง และกินไฟมาก เอดิสันตระหนักดีว่าเขาต้องสร้างหลอดไฟที่ใช้กระแสไฟฟ้าต่ำและพยายามค้นหาตัวนำที่สามารถทนความร้อนได้สูง เอดิสันทดลองกับวัสดุต่างๆที่จะนำมาใช้เป็นไส้หลอดนับหมื่นชนิด และในปี 1879 เอดิสันก็พบว่าเมื่อนำเส้นใยที่ทำด้วยฝ้ายมาทำเป็นด้ายแล้วนำมาเผาไฟจะได้ถ่านคาร์บอนที่ทนความร้อนได้สูง จากนั้นจึงนำมาบรรจุไว้ในหลอดสูญญากาศ หลอดไฟของเอดิสันสามารถให้แสงสว่างได้นานถึง 40 ชั่วโมง เอดิสันได้จดสิทธิบัตรหลอดไฟไส้คาร์บอนและออกแบบสวิตช์เปิด-ปิดหลอดไฟให้ติดตั้งในบ้านเรือนได้ง่าย นับเป็นจุดเริ่มต้นของหลอดไฟบนโลกใบนี้ ปี 1880 เอดิสันเปลี่ยนไส้หลอดไฟจากคาร์บอนเป็นไม้ไผ่ญี่ปุ่นซึ่งสามารถส่องสว่างได้นานถึง 900 ชั่วโมง

เอดิสันไม่หยุดอยู่แค่เพียงการประดิษฐ์หลอดไฟ ปี 1882 เขาเดินทางกลับมานิวยอร์กอีกครั้งหนึ่งและได้ตั้งบริษัท Edison Electric Light Company เพื่อสร้างโรงจ่ายกระแสไฟฟ้า โดยการนำไดนาโมของไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) มาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากนั้นได้วางสายไฟฟ้าไปทั่วเมืองนิวยอร์ค ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสได้ใช้ไฟฟ้ากันอย่างทั่วถึง นับว่าเอดิสันเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกิจการไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้เขายังสร้างเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าและสายดินเพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าอีกด้วย กิจการของเอดิสันดำเนินไปได้ด้วยดีทั้งการขายหลอดไฟฟ้าและขายกระแสไฟฟ้า เอดิสันได้ปรับปรุงหลอดไฟให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 1883 เขาประดิษฐ์หลอดไฟรุ่นใหม่ที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไปได้ ทำให้หลอดไฟแพร่กระจายไปตามจุดต่างๆของโลกเร็วขึ้น

สุดยอดนักประดิษฐ์ของโลก

ปี 1891 เขาประดิษฐ์เครื่องบันทึกภาพเคลื่อนไหวสำเร็จซึ่งนำไปสู่การสร้างภาพยนตร์ อีก 2 ปีต่อมาเอดิสันได้สร้างโรงถ่ายภาพยนตร์แห่งแรกของโลก ต่อมาเขาได้นำเครื่องบันทึกภาพเคลื่อนไหวมารวมกับเครื่องบันทึกเสียงซึ่งเขาเป็นคนประดิษฐ์เองกลายเป็นเครื่องถ่ายทำภาพยนตร์​ ปี 1898 เอดิสันเริ่มประดิษฐ์แบตเตอรี่ที่ทำจากนิกเกิลและเหล็กและทำสำเร็จในปี 1909 ใช้เวลานานถึง 11 ปี

นอกจากนี้เอดิสันยังมีผลงานสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีอีกมาก เช่น เครื่องเล่นจานเสียง เครื่องขยายเสียง​ เครื่องอัดสำเนา และสิ่งประดิษฐ์อื่นๆอีกนับพันชิ้น เอดิสันเป็นนักประดิษฐ์ที่มีผลงานมากที่สุดในยุคนั้น เขามีสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ภายใต้ชื่อของเขาเป็นจำนวนถึง 1,093 ชิ้น แม้ส่วนใหญ่เขาไม่ได้เริ่มคิดค้นขึ้นมาเอง แต่เป็นการพัฒนาจากสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นโดยลูกจ้างของเขา เพราะเหตุนี้ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการอ้างผลงานเป็นของตัวเองแต่ผู้เดียวอยู่เสมอ

จากผลงานการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้เทคโนโลยีอย่างมากมายเหลือเชื่อ เอดิสันจึงได้รับยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะในด้านนี้ แต่ตัวเขาเองกลับบอกว่าความสำเร็จของเขามาจากความพยายามมากกว่า วาทะเด็ดของเขาอย่างเช่น “อัจฉริยะเกิดจากแรงบันดาลใจเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ และอีก 99 เปอร์เซ็นต์คือความอุตสาหะ” หรือ “ผมไม่ได้ล้มเหลวนะ ผมเพิ่งจะพบ 10,000 วิธีที่มันใช้ไม่ได้” เป็นสิ่ง​ยืนยันได้เป็นอย่างดี

เอดิสันแต่งงานกับ Mary Stilwell ในปี 1871 มีลูกด้วยกัน 3 คน Mary เสียชีวิตตอนอายุยังน้อยด้วยโรคมะเร็งในสมองในปี 1884 ต่อมาในปี 1886 เอดิสันแต่งงานใหม่กับ Mina Miller มีลูก 3 คนเช่นกัน เอดิสันเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานในปี 1931 อายุรวม 84 ปี ส่วน Mina เสียชีวิตในปี 1947

เอดิสันเป็นตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จด้วยความอุตสาหะขยันหมั่นเพียร เขาได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ นิตยสารไลฟ์ได้ยกย่องให้เอดิสันเป็นหนึ่งใน “100 คนที่สำคัญที่สุดในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา” เขาคือสุดยอดนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลกตลอดกาล

► ไอแซก นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และฟิสิกส์ รวมทั้งยังเป็นนักเทววิทยาอีกด้วย ผลงานของนิวตันจัดว่าเป็นระดับ “สุดยอด” ของแต่ละสาขาวิชา เขาเป็นผู้คิดค้นวิชาแคลคูลัสที่เป็นคณิตศาสตร์ชั้นสูง เป็นผู้บัญญัติกฎการเคลื่อนที่ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของวิชาฟิสิกส์ เป็นผู้ค้นพบและสร้างกฎแรงโน้มถ่วงสากลอันเป็นแกนหลักของวิชาดาราศาสตร์ และยังมีผลงานอื่นอีกมากมาย นิวตันทำให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าอย่างมาก ผลงานของเขามีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

เด็กกำพร้าแม่ทิ้งไต่เต้าจากเด็กเสิร์ฟจนเป็นศาสตราจารย์

นิวตันเป็นชาวอังกฤษเกิดที่หมู่บ้าน Woolsthorpe มณฑล Lincolnshire ในวันคริสต์มาสปี 1642 ปีเดียวกับที่กาลิเลโอเสียชีวิต ราวกับพระเจ้าได้ส่งอัจฉริยะคนใหม่มาสานต่อสิ่งที่กาลิเลโอริเริ่มไว้ให้สำเร็จลุล่วง พ่อของนิวตันเสียชีวิตก่อนเขาเกิด 3 เดือน เขาเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนดตัวเล็กมากไม่มีผู้ใดคิดว่าจะรอดชีวิตได้ เมื่อนิวตันอายุได้ 3 ขวบมารดาของเขาแต่งงานใหม่และย้ายไปอยู่กับสามีใหม่ทิ้งเด็กน้อยให้อยู่กับยาย ช่วงอายุระหว่าง 12 – 17 ปีนิวตันได้เรียนหนังสือที่เมือง Grantham แต่ต้องออกมาทำฟาร์มที่เขาไม่ชอบเลยตามคำสั่งของแม่ที่กลายเป็นแม่หม้ายอีกครั้งอยู่ระยะหนึ่ง โชคของหนุ่มนิวตันยังดีที่อาจารย์ที่โรงเรียนของเขาสามารถเกลี้ยกล่อมแม่ให้ส่งเขากลับไปเรียนหนังสือได้สำเร็จ โอกาสของเขาจึงเริ่มดีขึ้น รวมทั้งผลการเรียนที่อยู่ระดับแถวหน้า

ปี 1661 นิวตันได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยตรีนิตี้ (Trinity College) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นนักศึกษาที่รับการช่วยเหลือทางการเงินจากวิทยาลัยแต่ต้องแลกกับการทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟและคนทำความสะอาดห้องพักอยู่ 3 ปีก่อนจะได้รับทุนการศึกษาจนกว่าจะจบปริญญาโท หลังจากเขาเรียนจบปริญญาตรีได้ไม่นานมหาวิทยาลัยต้องปิดชั่วคราวเนื่องจากเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ ทำให้เขาต้องกลับไปอยู่ที่บ้านที่ Woolsthorpe เป็นเวลา 2 ปี แต่กลับเป็นช่วงเวลานี้เองที่นิวตันได้พัฒนาทฤษฎีของเขาเกี่ยวกับแคลคูลัส ธรรมชาติของแสง และกฎแรงโน้มถ่วงได้อย่างมาก

ปี 1667 นิวตันกลับไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็ได้รับเลือกให้เป็นนักวิจัยที่วิทยาลัยตรีนิตี้ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องอุทิศตนถือบวชอันเป็นสิ่งที่นิวตันพยายามหลีกเลี่ยงเนื่องจากมุมมองที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายศาสนา โชคดีที่ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนว่าต้องบวชเมื่อไรจึงอาจเลื่อนไปตลอดกาลก็ได้ แต่หลังจากที่เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นเมธีลูเคเชียน (Lucasian Professor) ซึ่งเป็นตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์อันทรงเกียรติที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี 1669 เรื่องถือบวชจึงกลายเป็นเรื่องที่ตึงเครียดมากขึ้น นิวตันจัดการปัญหานี้ด้วยการขอยกเว้นสำหรับเขาเป็นกรณีพิเศษจากพระเจ้าชาลส์ที่ 2 และได้รับอนุญาต ความขัดแย้งระหว่างเขากับฝ่ายศาสนาจึงลดลงไป ปี 1672 นิวตันได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของราชสมาคมแห่งลอนดอน (Royal Society) ซึ่งเป็นสมาคมของนักปราชญ์ด้านวิทยาศาสตร์เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีอยู่ถึงปัจจุบัน

สุดยอดนักคณิตศาตร์แห่งยุค

ผลงานด้านคณิตศาสตร์ของนิวตันถูกกล่าวขานว่าเป็น “ความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ในทุกสาขาของคณิตศาสตร์ยุคนั้น” เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้คิดค้นวิชาแคลคูลัสร่วมกับกอทท์ฟรีดไลบ์นิซนักคณิตศาสตร์คนสำคัญชาวเยอรมันผู้ตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี 1684 แต่ก่อนหน้านั้นไอแซก นิวตันได้คิดวิธีคำนวณเพื่อใช้แก้ปัญหากลศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ซึ่งเขาเรียกว่า fluxion ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับ calculus ของไลบ์นิซ เพียงแต่นิวตันไม่ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ แต่ได้สอดแทรกทั้งทฤษฎีและการประยุกต์ใช้ไว้ในหนังสือหลายเล่มที่พิมพ์ก่อนปี 1684 ทุกวันนี้นักประวัติศาสตร์คณิตศาสตร์ได้เห็นพ้องกันว่าไลบ์นิซและนิวตันสร้างแคลคูลัสขึ้นมาโดยไม่มีใครลอกเลียนใคร และนิวตันสร้างได้ก่อนไลบ์นิซประมาณ 10 ปี (แต่ไม่ตีพิมพ์) แต่สัญลักษณ์และเครื่องหมายของไลบ์นิซได้รับความนิยมมากกว่า

นิวตันเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีบททวินามที่ใช้ได้สำหรับเลขยกกำลังใดๆ เขาเป็นผู้ค้นพบ Newton’s identities, Newton’s method, เส้นโค้งบนระนาบลูกบาศก์ (โพลีโนเมียลอันดับสามของตัวแปรสองตัว) เขามีส่วนอย่างสำคัญต่อทฤษฎี finite differences และเป็นคนแรกที่ใช้เศษส่วนเลขชี้กำลัง (fractional indices) และนำเรขาคณิตเชิงพิกัดมาใช้หาคำตอบจากสมการไดโอแฟนทีน เขาหาค่าผลบวกย่อยโดยประมาณของอนุกรมฮาร์โมนิกได้โดยใช้ลอการิทึม (ก่อนจะมีสมการผลรวมของออยเลอร์) และเป็นคนแรกที่ใช้อนุกรมกำลัง นิวตันสร้างผลงานด้านคณิตศาสตร์เยอะมากสมกับที่ได้รับการกล่าวขานจริงๆ

นักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่

ผลงานเกี่ยวกับคุณสมบัติของแสงของนิวตันเริ่มจากปี 1666 ที่เขาสังเกตเห็นว่าสเปกตรัมของสีที่ออกจากปริซึมในตำแหน่งของความเบี่ยงเบนต่ำสุดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แม้ว่าแสงเข้าสู่ปริซึมเป็นวงกลมก็ตาม นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าสีเป็นคุณสมบัติที่แท้จริงของแสง ต่อมาระหว่างปี 1670 ถึง 1672 ที่นิวตันสอนวิชาทัศนศาสตร์ (Optics) เขาได้ศึกษาการหักเหของแสงและค้นพบว่าแสงสีขาวเมื่อผ่านปริซึมจะเกิดแถบสี 7 สี (สีรุ้ง) และสามารถรวมกลับเป็นแสงสีขาวด้วยเลนส์และปริซึมอันที่สอง เขายังพบว่าลำแสงสีต่างๆจะไม่เปลี่ยนคุณสมบัติไม่ว่าจะผ่านการหักเห, การกระเจิง หรือการส่งผ่าน แสงจะยังคงสีเดิมไว้ ซึ่งนำไปสู่การสร้างทฤษฎีสีที่บอกว่าสีเป็นผลจากการที่วัตถุมีปฏิสัมพันธ์กับแสงที่มีสีอยู่แล้วไม่ใช่วัตถุสร้างสีเอง

จากงานเรื่องแสงของนิวตันทำให้เขาได้ข้อสรุปว่าเลนส์ของกล้องโทรทรรศน์หักเหแสง (Refracting Telescope) จะเห็นภาพไม่ค่อยชัดเนื่องจากการแผ่กระจายของแสงเป็นสี เพื่อพิสูจน์แนวคิดนี้เขาได้สร้างกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้กระจกสะท้อนแสงแทนเลนส์เพื่อเลี่ยงปัญหาดังกล่าว นิวตันสร้างกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง (Reflecting Telescope) สำเร็จในปี 1668 ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้ในงานดาราศาสตร์ในปัจจุบันแทบทั้งหมด นอกจากนี้เขายังสร้างกฎการเย็นตัว (Newton’s Law of cooling) และทำการคำนวณความเร็วของเสียงในทางทฤษฎีได้เป็นครั้งแรกอีกด้วย

นิวตันได้สร้างกฎการเคลื่อนที่ (Newton’s laws of motion) อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุและแรงที่กระทำต่อมัน และการเคลื่อนที่ของวัตถุที่ตอบสนองต่อแรงเหล่านั้น เขาได้พิสูจน์ว่าทั้งวัตถุบนโลกและวัตถุในท้องฟ้าล้วนอยู่ภายใต้กฎการเคลื่อนที่เดียวกัน นิวตันใช้กฎนี้อธิบายและตรวจสอบหาความจริงในการเคลื่อนที่ของวัตถุและระบบในหลายกรณี รวมทั้งการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ กฎการเคลื่อนที่ของนิวตันกลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญของวิชากลศาสตร์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มันมีประโยชน์อย่างมากต่อความก้าวหน้าในหลายเรื่องระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรม และไม่เคยถูกปรับปรุงเลยมากว่า 200 ปี

ปี 1679 นิวตันหันมาสนใจศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของวัตถุบนท้องฟ้าอีกครั้ง เขาครุ่นคิดพิจารณาเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงและผลกระทบของมันที่มีต่อการโคจรของดาวเคราะห์โดยใช้กฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ของเคปเลอร์เป็นตัวอ้างอิง นิวตันได้ทำการพิสูจน์ว่าการโคจรเป็นวงรีของดาวเคราะห์เป็นผลมาจากแรงสู่ศูนย์กลางที่ผกผันกับรัศมียกกำลังสอง นำไปสู่การสร้างกฎแรงโน้มถ่วงสากล (Newton’s law of universal gravitation) อันลือลั่นซึ่งเป็นเสาหลักของการศึกษาทางดาราศาสตร์ตลอดช่วง 3 ศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และแม้ว่ากฎแรงโน้มถ่วงของนิวตันจะถูกทดแทนด้วยทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ แต่มันยังคงถูกใช้งานและยังให้ผลการคำนวณที่ยอดเยี่ยมมาโดยตลอด ทฤษฎีสัมพัทธภาพจะใช้ในกรณีที่ต้องการความละเอียดสูงมากหรือมีสนามแรงโน้มถ่วงกำลังสูงมากเท่านั้น

นิวตันได้รวบรวมผลงานเรื่องกฎการเคลื่อนที่และกฎแรงโน้มถ่วงสากลเขียนเป็นหนังสือโดยใช้วิชาแคลคูลัสในการอธิบายและพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ หนังสือนี้กลายเป็นหนังสือที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งในประวัติศาสตร์คือหนังสือ Philosophiæ Naturalis Principia Mathematica หรือเรียกสั้นๆว่า Principia

Principia หนังสือวิชาการที่ทรงคุณค่ามากที่สุดในโลก

ปี 1684 Edmond Halley นักดาราศาสตร์คนสำคัญของโลก (ผู้คำนวณคาบการโคจรและทำนายการปรากฏตัวของดาวหางฮัลเลย์สำเร็จคนแรก) ได้มาพบนิวตันเพื่อสอบถามความเห็นเรื่องปัญหาการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ที่ได้เคยถกเถียงกันและยังคิดกันไม่ออก นิวตันบอกว่าเขาพิสูจน์ได้ตั้งนานแล้วแต่หาบันทึกไม่เจอ ด้วยแรงกระตุ้นและการสนับสนุนจาก Halley นิวตันใช้เวลา 2 – 3 เดือนเขียนเนื้อหาที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้จำนวน 9 แผ่นส่งให้ Halley และราชสมาคมแห่งลอนดอน และใช้เวลาอีก 2 ปีทุ่มเทเขียน Principia จนสำเร็จและได้ตีพิมพ์ครั้งแรกด้วยการช่วยเหลือด้านการเงินจาก Halley ในปี 1687

หนังสือ Principia แบ่งเป็น 3 เล่มย่อย เล่มแรกเกี่ยวกับพื้นฐานวิชาแคลคูลัสในชื่อ “the method of first and last ratios” และการเคลื่อนที่ของวัตถุ เล่มที่ 2 เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับความเร็วและแรงเสียดทาน, สถิตยศาสตร์ของไหล (Hydrostatics), แรงเสียดทานของอากาศ รวมทั้งการคำนวณหาความเร็วของคลื่นในของเหลวและความเร็วของเสียงในอากาศ เล่มที่ 3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงสากลและการโคจรของระบบสุริยะ หนังสือเล่มนี้จึงมีทั้งวิชาแคลคูลัส กฎการเคลื่อนที่ และกฎแรงโน้มถ่วงสากลอันเป็นเสาหลักของการศึกษาและพัฒนาวิทยาศาสตร์มาอย่างยาวนาน

Principia ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในหนังสือทรงคุณค่าและมีอิทธิพลต่อวงการวิทยาศาสตร์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ไอน์สไตน์นักวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดังของโลกบอกว่าหนังสือ Principia เป็น “ความก้าวหน้าทางสติปัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” นอกจากนี้ Principia ฉบับพิมพ์ครั้งแรกยังเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่แพงที่สุดในโลกอีกด้วย ผู้ชนะการประมูลเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2016 ได้หนังสือ Principia ไปในราคา 3.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตำนานแอปเปิลหล่นกับการค้นพบกฎแรงโน้มถ่วง

การค้นพบและสร้างกฎแรงโน้มถ่วงของนิวตันเป็นสิ่งที่พิเศษและเหลือเชื่ออย่างยิ่ง ไม่มีใครนึกฝันมาก่อนว่ามีแรงดึงดูดระหว่างมวล แล้วนิวตันค้นพบได้อย่างไร จึงมีตำนานเล่าว่าขณะที่เขานั่งใต้ต้นแอปเปิลมีลูกแอปเปิลหล่นลงมาใส่หัว ทำให้เขาเกิดปัญญาคิดขึ้นได้อย่างฉับพลันว่าลูกแอปเปิลหล่นลงมาด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งอันที่จริงการค้นพบของนิวตันต้องผ่านการศึกษาค้นคว้า ครุ่นคิดใคร่ครวญ พัฒนามาเป็นลำดับ ต้องสร้างวิชาแคลคูลัส สร้างกฎการเคลื่อนที่ และใช้เวลานานหลายปีกว่าจะสรุปออกมาเป็นกฎแรงโน้มถ่วงได้ แต่ตำนานแอปเปิลหล่นก็ไม่ใช่เรื่องที่มโนขึ้นเอง มีหลักฐานว่าเรื่องลูกแอปเปิลหล่นก็เป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในการค้นพบด้วยเช่นกัน

William Stukeley ผู้เขียนบันทึกเรื่องราวของนิวตันในชื่อ “Memoirs of Sir Isaac Newton’s Life” ได้บันทึกสิ่งที่นิวตันเล่าให้เขาฟังด้วยตัวเองขณะพวกเขาสองคนนั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิลในสวนว่า “เมื่อก่อนเขา (นิวตัน) อยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกันนี้ ได้เห็นลูกแอลเปิลหล่น ความคิดเรื่องแรงโน้มถ่วงเข้ามาในใจเขา ทำไมลูกแอปเปิลถึงตกดิ่งลงสู่พื้น ทำไมไม่ออกไปด้านข้างหรือขึ้นข้างบน ทำไมมันถึงมุ่งสู่ใจกลางโลกเสมอ เหตุผลคือโลกดึงมันลงมา จะต้องมีแรงดึงในสสารและผลรวมของแรงดึงในสสารของโลกต้องอยู่ในแนวศูนย์กลางของโลก ถ้าสสารดึงสสาร มันจะต้องมีสัดส่วนตามปริมาณของมัน ดังนั้นลูกแอปเปิลดึงโลกและโลกก็ดึงลูกแอปเปิล” ตำนานลูกแอปเปิลหล่นกับการค้นพบที่ยิ่งใหญ่นี้จะถูกเล่าขานไปอีกนานแสนนาน

ทุ่มสุดตัวเพื่อผลงานยิ่งใหญ่แต่นอบน้อมถ่อมตนยิ่ง

ผลงานและความสำเร็จของนิวตันมิใช่ได้มาด้วยความอัจฉริยะของเขาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลจากการทุ่มเทในการศึกษาค้นคว้าทดลองครุ่นคิดวิเคราะห์ที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เขาอุทิศเวลาทั้งชีวิตให้กับการทำงาน นิวตันไม่เคยแต่งงาน ไม่อยู่ภายใต้กิเลสตัณหาและความเปราะบางทางอารมณ์แบบผู้ชายคนอื่น เชื่อกันว่าเขาเสียชีวิตไปโดยที่ยังบริสุทธิ์อยู่

แม้นิวตันจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดและได้รับการยกย่องมากที่สุดในยุคนั้น แต่เขากลับเจียมเนื้อเจียมตัวกับความสำเร็จของตัวเอง ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำที่เขาสื่อสารกับเพื่อนร่วมวงการ เช่น

“ถ้าฉันสามารถมองได้ไกลกว่าคนอื่น นั่นเป็นเพราะว่าฉันยืนอยู่บนไหล่ของยักษ์”

ซึ่งน่าจะหมายถึงความสำเร็จของเขามาจากผลงานของผู้ยิ่งใหญ่ยุคก่อนหน้า และหนึ่งในบรรดายักษ์ที่นิวตันให้การยกย่องเป็นพิเศษคือกาลิเลโอ ส่วนไหล่ของเขานั้นได้เป็นที่ยืนให้กับใครต่อใครมากมาย รวมทั้งไอน์สไตน์ผู้โด่งดัง

นักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์

เพียงผลงานอย่างใดอย่างหนึ่งในผลงานเด่นของนิวตัน ไม่ว่าจะเป็น วิชาแคลคูลัส, เรื่องแสงและกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง, กฎการเคลื่อนที่ หรือกฎแรงโน้มถ่วง ก็ทำให้เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลกได้แล้ว แต่นิวตันมีผลงานชั้นยอดมากมายสุดที่ใครจะเทียบได้ เขาจึงได้รับการยกย่องในระดับสูงสุดตลอดมา

นิวตันดำรงตำแหน่งสำคัญอันแสดงถึงการเป็นผู้มีความสามารถสูงเป็นที่ยอมรับมากมาย เขาเป็นเมธีลูเคเชียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นานถึง 33 ปี, เป็นประธานราชสมาคมแห่งลอนดอนนาน 24 ปี (ในยุคนั้นใครที่จะได้เป็นสมาชิกของที่นี่ต้องเป็นคนที่โดดเด่นเท่านั้น), เป็นเจ้ากรมกษาปณ์ของอังกฤษนาน 27 ปี (รัฐบาลอังกฤษให้มาแก้ปัญหาธนบัตรปลอม นิวตันทำผลงานได้ยอดเยี่ยมจนได้เป็นหัวหน้าหน่วยงานนี้อย่างยาวนาน), เป็นสมาชิกรัฐสภา (ตัวแทนของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์) อีก 2 สมัย และกระทั่งยังมีเสียงร่ำลือว่าเขาเคยเป็นผู้นำสูงสุดของสมาคมลึกลับ Priory of Sion อีกด้วย (มีเค้ามากทีเดียวเพราะนิวตันเป็นนักเทววิทยาชั้นนำ) และนิวตันได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวิน (Knight) ในตำแหน่งเซอร์ (Sir) จากพระราชินีแอนน์แห่งอังกฤษในปี 1705

นิวตันเสียชีวิตในปี 1727 ด้วยวัย 85 ปี จากผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างอเนกอนันต์ พิธีศพของเขาจึงถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่เทียบเท่ากษัตริย์ ศพของเขาฝังอยู่ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เช่นเดียวกับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงของอังกฤษ นี่คือนักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ “เซอร์ไอแซก นิวตัน”

ที่มา
https://www.takieng.com/stories/6241
ข้อมูลและภาพจาก
wikipedia, biography, bbc

► อาร์คิมิดีส อัจฉริยะนักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ และนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ข้ามสหัสวรรษ

อาร์คิมิดีส เป็นนักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ วิศวกร และนักประดิษฐ์คนสำคัญในสมัยโบราณ ผู้วางรากฐานให้แก่วิชาสถิตยศาสตร์ สถิตยศาสตร์ของไหล และกลศาสตร์ เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมเครื่องจักรกลหลายชิ้น รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงที่ยังใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน ในงานด้านคณิตศาสตร์อาร์คิมิดีสเป็นผู้คิดวิธีหาพื้นที่และปริมาตรของรูปทรงเรขาคณิตมากมาย รวมทั้งการหาค่า π (pi) เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดและเป็นนักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในยุคโบราณ

อาร์คิมิดีส เป็นชาวกรีก เกิดเมื่อ 287 ปีก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองซีรากูซา บนเกาะซิซิลีซึ่งอยู่ทางตอนใต้สุดของประเทศอิตาลีในปัจจุบัน ในเวลานั้นเมืองซีรากูซาจัดเป็นเมืองใหญ่ที่มีความเจริญ มีกษัตริย์ปกครอง แต่อาร์คิมิดีสได้ดั้นด้นไปเรียนยังแดนไกลที่เมืองอเล็กซานเดรียทางตอนเหนืออียิปต์ซึ่งในตอนนั้นเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนของทายาทของ Euclid ตำนานนักคณิตศาสตร์ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งเรขาคณิต

หลังจบการศึกษาที่เมืองอเล็กซานเดรีย อาร์คิมิดีสได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองซีรากูซา เป็นนักคิดและนักประดิษฐ์คนสำคัญของเมืองบ้านเกิด ทำงานและช่วยแก้ปัญหาให้กับพระเจ้าเฮียโรที่ 2 กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองซีรากูซาซึ่งนัยว่าเป็นญาติกับเขาด้วยแต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน อาร์คิมิดีสสร้างผลงานมากมายจนเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์

วลีดังที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักกันดี “ยูเรก้า!”
เรื่องเล่าที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดเกี่ยวกับอาร์คิมิดีสคือตอนที่เขาค้นพบวิธีหาปริมาตรของมงกุฎทองของพระเจ้าเฮียโรที่ 2 เพื่อพิสูจน์ว่ามีการผสมเงินเข้าไปด้วยหรือไม่ อาร์คิมิดีสค้นพบคำตอบตอนที่เขากำลังอาบน้ำแล้วสังเกตเห็นว่าระดับน้ำในอ่างเพิ่มสูงขึ้นขณะเขาก้าวลงไป จึงคิดวิธีหาปริมาตรของมงกุฎโดยวิธีแทนที่น้ำได้ ซึ่งนำไปสู่การพิสูจน์ได้ว่ามงกุฏทองมีเงินผสมอยู่จริงๆ ด้วยความตื่นเต้นดีใจอาร์คิมิดีสจึงวิ่งออกไปยังท้องถนนทั้งที่ยังแก้ผ้า แล้วร้องตะโกนว่า “ยูเรก้า!” (ภาษากรีกแปลว่าฉันพบแล้ว)

อาร์คิมิดีสได้เขียนอธิบายหลักการนี้ซึ่งต่อมาเรียกว่าหลักการของอาร์คิมิดีส (Archimedes’ principle) ไว้ในหนังสือ On Floating Bodies ว่า “เมื่อนำวัตถุลงไปแทนที่ของเหลวจะมีแรงต้านเท่ากับน้ำหนักของของเหลวปริมาตรเท่าส่วนจม” สิ่งที่เขาค้นพบเป็นกฎของแรงลอยตัวและการแทนที่ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของวิชาสถิตยศาสตร์ของไหล ( Hydrostatics)

เครื่องทุ่นแรงที่ใช้มานานกว่า 2,000 ปี
ระหัดเกลียวของอาร์คิมีดีส (Archimedes’s Screw)
พระเจ้าเฮียโรที่ 2 ให้อาร์คิมีดีสออกแบบสร้างเรือที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้น บรรทุกคนได้ 600 คน มีสวนไม้ประดับ โรงยิม โบสถ์ และเครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย สามารถใช้เป็นเรือสำราญ เรือบรรทุกสินค้า หรือเป็นเรือรบก็ได้ ปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับเรือใหญ่ขนาดนี้ในสมัยนั้นคือมีน้ำรั่วซึมตามลำเรือมาก จำเป็นต้องมีเครื่องมือวิดน้ำออกจากท้องเรือให้ทัน อาร์คิมีดีสได้ออกแบบเครื่องมือที่ประกอบด้วยใบพัดหมุนรูปเกลียวอยู่ภายในท่อทรงกระบอก ใช้หมุนด้วยมือ มันสามารถใช้งานได้ผลเป็นอย่างดี ปัจจุบันนี้ระหัดเกลียวของอาร์คิมีดีสยังเป็นที่นิยมใช้งานกันอย่างแพร่หลายสำหรับการระบายน้ำและการขนถ่ายวัสดุประเภทเป็นเม็ดขนาดเล็ก เช่น ถ่านหินหรือเมล็ดธัญพืช

คานดีดคานงัด (Law of Lever)
อาร์คิมีดีสได้อธิบายหลักการในเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ On the Equilibrium of Planes มีประโยชน์สำหรับการยกของที่มีน้ำหนักมาก คานดีดคานงัดใช้วิธีการง่ายๆคือหาไม้คานยาวอันหนึ่งและจุดรองรับคาน (Fulcrum) เมื่อสอดปลายไม้ด้านหนึ่งไว้ใต้สิ่งของใกล้กับตำแหน่งจุดรองรับคานและออกแรงกดที่ปลายไม้คานอีกด้านหนึ่งก็จะสามารถยกของที่มีน้ำหนักมากได้อย่างสบาย เขาได้สอนให้พวกกะลาสีเรือรู้จักใช้คานงัดของหนักโดยไม่ต้องออกแรงมากนัก และนี่เป็นที่มาของวาทะเด็ดของเขาที่ว่า “Give me a place to stand, and a lever long enough, and I will move the world.” – หาที่ยืนกับคานงัดที่ยาวพอให้ฉันสิ แล้วฉันจะเคลื่อนโลกให้ดู

เครื่องชักรอก (Block and tackle)
อาร์คิมีดีสคิดค้นเครื่องชักรอกหรือระบบรอกพวงที่ใช้รอกหลายตัวซึ่งช่วยทุ่นแรงในการยกของหนักเพื่อให้พวกกะลาสีเรือที่แต่ละวันต้องยกของหนักจำนวนมากไม่ต้องเหนื่อยมากเกินไปและไม่ต้องใช้คนจำนวนมากในการยกของหนัก ก่อนจะมีเครื่องมือชนิดนี้ของหนัก 1 ตันต้องใช้คนยกมากถึง 30 – 40 คน แต่เมื่อมีเครื่องชักรอกคนเพียงคนเดียวก็สามารถจะยกขึ้นได้ เมื่อเครื่องชักรอกของอาร์คิมิดิสถูกใช้งานอย่างแพร่หลายก็ทำให้วิทยาการของโลกเจริญรุดหน้าไปมาก เพราะการสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่สามารถทำได้ง่ายขึ้นและเทคโนโลยีนี้ก็ยังถูกพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอย่างเช่นเครนขนาดใหญ่ที่ใช้ในการสร้างตึกสูงก็ใช้ระบบรอกที่อาร์คิมิดิสเป็นผู้คิดค้นขึ้นมา

เครื่องทุ่นแรงต่างๆที่อาร์คิมีดีสคิดค้นขึ้นมานอกจากจะมีประโยชน์ต่อการทำงานอย่างมากมายจนเป็นที่นิยมใช้กันต่อเนื่องยาวนานกว่า 2,000 ปีแล้วนั้น มันยังเป็นรากฐานที่สำคัญของวิชากลศาสตร์ รวมถึงเป็นต้นแบบของเครื่องจักรกลที่สำคัญในปัจจุบันอีกจำนวนมาก

สุดยอดนักคณิตศาสตร์ยุคโบราณ
การประมาณค่า π 
ทรงกลมและทรงกระบอก
พาราโบลาและเส้นตรง
จุดศูนย์ถ่วงของระนาบ

คิดค้นอาวุธสงครามเพื่อปกป้องบ้านเมือง
กรงเล็บของอาร์คิมิดีส (Claw of Archimedes)
ลำแสงพิฆาตของอาร์คิมิดีส (Archimedes’ Death Ray)

จบชีวิตขณะคิดโจทย์คณิตศาสตร์
หลังจากปิดล้อมอยู่นานในที่สุดกองทัพโรมันก็สามารถตีเมืองซีรากูซาได้สำเร็จ นายพลมาร์เซลลัสที่ชื่นชมความสามารถของอาร์คิมิดีสอย่างมากและคิดว่าอาร์คิมิดีสคือสมบัติทางวิทยาศาสตร์อันล้ำค่า ได้สั่งให้ทหารนำตัวอาร์คิมิดีสมาพบโดยห้ามทำร้ายเขา ทหารมาตามตัวอาร์คิมิดีสไปพบแม่ทัพโรมันขณะที่เขากำลังคิดใคร่ครวญปัญหาคณิตศาสตร์อยู่ เขาจึงปฏิเสธโดยบอกกับทหารว่าเขาต้องทำโจทย์คณิตศาสตร์ให้เสร็จก่อน อย่าเพิ่งมารบกวน ทหารโรมันโกรธมากจึงใช้ดาบฆ่าเขา นายพลมาร์เซลลัสโกรธมากที่ผู้ซึ่งเขาเรียกว่า “เทพเจ้าแห่งเรขาคณิต” ต้องตายไปทั้งๆที่เขาสั่งห้ามทำอันตรายต่อเขาไว้แล้ว

นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ข้ามสหัสวรรษ
ผลงานของอาร์คิมิดีสทั้งในฐานะนักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ วิศวกร หรือนักประดิษฐ์ ล้วนมีประโยชน์ต่อผู้คนทั่วโลกอย่างมหาศาล ผลงานหลายอย่างของเขาถูกนำไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยโบราณสืบเนื่องต่อมาข้ามสองสหัสวรรษจนถึงปัจจุบันก็ยังคงใช้งานได้ดี กาลิเลโอให้การยกย่องต่ออาร์คิมิดีสหลายต่อหลายครั้งและให้ฉายาเขาว่า ‘เหนือมนุษย์’ (Superhuman) ส่วนกอทท์ฟรีด ไลบ์นิซบอกว่าหากใครรู้จักเข้าใจอาร์คิมิดีสดีพอจะให้การยกย่องต่อความสำเร็จของคนสำคัญยุคต่อมาน้อยลง อาร์คิมิดีสจึงได้รับการยกย่องให้เป็นทั้งนักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกตลอดกาล

ที่มา
https://www.takieng.com/stories/10098