วัน: 5 มิถุนายน 2021

► ผลวิจัยเม็ดเลือดเผยอายุขัยที่แท้จริงของมนุษย์ ชี้อยู่ได้นานที่สุดถึง 150 ปี

แม้จะเคยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่า คนเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานที่สุดราว 120 ปี แต่ผลการศึกษาใหม่ที่วิเคราะห์วงจรชีวิตของเม็ดเลือดกลับให้ข้อมูลที่ต่างออกไป โดยพบสิ่งบ่งชี้ว่าอายุขัยสูงสุดที่แท้จริงของมนุษย์อาจมากถึง 150 ปี

ทีมนักวิจัยเชื้อสายรัสเซียจากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ “เจโร” (Gero) ในสิงคโปร์ ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการวิจัยข้างต้นในวารสาร Nature Communications โดยระบุว่าคนเราสามารถมีชีวิตยืนยาวได้อย่างมากที่สุดราว 120 – 150 ปี แต่จะไม่เกินไปกว่านั้น เนื่องจากความสามารถในการซ่อมแซมฟื้นฟูร่างกายในระดับเซลล์ได้หมดไปอย่างสิ้นเชิงในช่วงวัยดังกล่าว

  • พบความแก่ชรามีอย่างน้อย 4 แบบ คุณจะเป็นแบบไหนเมื่อสูงวัยมากขึ้น
  • มนุษย์ไม่ได้ชราลงอย่างต่อเนื่อง แต่ร่างกายถึงคราวทรุดโทรม 3 ครั้งใหญ่ในชีวิต
  • วิธีบำบัดใหม่ใช้กระแสไฟฟ้าอ่อนแตะใบหูช่วยชะลอวัย

ทีมผู้วิจัยทราบถึงขีดจำกัดของอายุขัยมนุษย์ได้ ด้วยการวิเคราะห์ผลตรวจนับเม็ดเลือดของประชากรต่างวัย 500,000 คนในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และรัสเซีย เพื่อดูถึงสัดส่วนระหว่างเม็ดเลือดขาวสองชนิด กับความแตกต่างของขนาดเม็ดเลือดแดงที่ร่างกายผลิตออกมา ซึ่งยิ่งคนเรามีอายุมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงทั้งปริมาณและขนาดของเม็ดเลือดสองประการนี้ก็จะยิ่งปรากฏชัดขึ้น เหมือนกับผมที่หงอกขาวเมื่อเข้าสู่วัยชรา

ข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือดดังกล่าว เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) ที่บอกได้ถึงระดับความชราหรืออายุทางชีวภาพ (Biological age) ที่แท้จริงของคนเรา ซึ่งอาจแก่กว่าหรืออ่อนเยาว์กว่าอายุที่นับจากวันเกิดก็ได้

ภาพขยายเซลล์เม็ดเลือดแดงขณะเกิดลิ่มเลือด


มีการนำข้อมูลเหล่านี้มาสร้างเป็นแบบจำลองคอมพิวเตอร์ เพื่อคำนวณหาสิ่งที่เรียกว่า “ตัวบ่งชี้สภาพของสิ่งมีชีวิตแบบมีพลวัต” (DOSI) ซึ่งตัวเลขนี้จะแสดงถึงความสามารถของมนุษย์ในการฟื้นตัวจากภาวะป่วยไข้หรือบาดเจ็บ และหากความสามารถนี้ยังคงอยู่ในช่วงวัยใดก็จะไม่ทำให้เกิดภาวะเครียดในร่างกายที่นำไปสู่ความชรา

ผลการคำนวณปรากฏว่า ความสามารถในการฟื้นตัวจากภาวะป่วยไข้หรือบาดเจ็บของคนเราจะหมดไปอย่างสิ้นเชิงในช่วงอายุ 120 – 150 ปี ส่วนผลการคำนวณอีกชุดที่ใช้ทวนสอบความถูกต้องของผลคำนวณอายุขัยดังกล่าว ใช้วิธีนับจำนวนก้าวเดินในแต่ละวันกับประชากรต่างวัยราว 5,000 คน ซึ่งก็คำนวณได้ผลออกมาเช่นเดียวกัน แม้ในกรณีนี้จะใช้จำนวนก้าวที่สามารถเดินได้เป็นตัวบ่งชี้ระดับความชราแทนข้อมูลเม็ดเลือดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การมีอายุขัยที่ยืนยาวมากขึ้นเป็นคนละเรื่องกับการมีสุขภาพที่ดีในวัยชรา ซึ่งทีมผู้วิจัยแนะว่าควรจะต้องมีการศึกษาต่อไปถึงช่วงอายุยาวนานที่สุดที่คนเราจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยมีสุภาพแข็งแรงดีด้วย

ปัจจุบันมนุษย์เจ้าของสถิติอายุยืนยาวที่สุดในโลกได้แก่ จานน์ แกลมองต์ คุณทวดหญิงชาวฝรั่งเศส ซึ่งเสียชีวิตในปี 1997 ด้วยวัย 122 ปี กับอีก 164 วัน

ที่มา : https://www.bbc.com/thai/features-57298728